บริษัท โตโยต้า พะเยา(1994) จำกัด :::: แม่ต๋ำ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา 56000‎ :::: Call Center. 054-412036, 054-412039

“รถใช้งาน” กับ “รถในฝัน” มุมมองความคิด

 

“รถใช้งาน” กับ “รถในฝัน” มุมมองความคิดที่ต้องแยกแยะ

ก่อนซื้อรถต้องพิจารณาองค์ประกอบอะไรบ้าง?

 

รถยนต์ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคน ความจำเป็นที่จะต้องโดยสารหรือใช้งานในรูปแบบต่างๆ เป็นตัวกำหนดให้เราหลีกเลี่ยง การใช้รถยนต์ยากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันรถยนต์ก็กลายมาเป็นเครื่องมือหากิน เป็นปัจจัยพื้นฐานที่แสนธรรมดาในยุกสมัยนี้ ต่างจากเมื่อก่อนที่บ้านใคร มีรถยนต์ พาหนะที่ว่านี้สามารถบ่งบอกฐานะทางการเงินได้เป็นอย่างดี อย่างว่าปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีเพียงปัจจัย 4 เช่นแต่ก่อน อาหาร, ที่อยู่อาศัย, เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค บวกรวม “สิ่งอำนวยความสะดวก” เข้าไปอีกหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

 

    สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างรถยนต์มีตัวเลขเพิ่มขึ้นทุกปี  จำนวนรถบนท้องถนนโดยเฉพาะในเมืองการันตีข้อเท็จจริงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ กับความต้องการใช้งานของ ผู้บริโภค รวมถึงยอดจองรถในงานแสดงรถยนต์ที่ค่ายรถทุกค่ายต่างออกมาบอกอย่างพร้อมเพรียงกัน ถึงตัวเลขการจองรถ ในงานที่เรียกว่า “ทะลุเป้า” ซึ่งเป็นการตอกย้ำ ชัดเจนแล้วว่า “รถยนต์” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่คนในประเทศอยากมีไว้ ครอบครองจริงๆ เช่นนั้นสิ่งที่ต้องคิดแยกแยะเกี่ยวกับเรื่อง “รถใช้งาน” กับ “รถในฝัน” คุณจะเลือกใช้รถแบบไหนให้ สอดคล้องกับความต้องการของตัวเอง หลายคนก่อนซื้อรถเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อแบบไน บางคนอยากได้ตรงที่ความ สวยงาม โดยไม่คิดถึงเรื่องสมรรถนะกับ ผลที่จะตามมา หรือบางคนอยากได้รถไว้ใช้งาน แต่ดันเลือกรถผิดประเภท อันนี้ก็มีให้เห็นเยอะแยะ

 

    เรื่องนี้มีตัวแปรและองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เงิน (ที่จะเอาไปซื้อและเงินที่จะต้องใช้ในการดูแลรักษา) ราคาน้ำมันที่ขึ้นๆ ลงๆ รวมถึงค่านิยมที่มอง ความอยากได้อยากมีเป็นหลัก คำถามก็คือ เราจะเลือกแบบไหนถึงจะดี ของนอกกายราคาแพงไม่ใช้ได้มาง่ายๆ อันดับแรกต้องดูที่งบประมาณ จะซื้อรถหรือซื้ออะไรก็ ตาม ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับกำลังที่มี ไม่ใช่ซื้อมาแล้วต้องมานั่งเครียดมีชีวิตยากลำบาก หรือซื้อมาขับได้ไม่นานก็ถูกยึดไปซะแล้ว ซึ่งในส่วนของงบประมาณมีสิ่งที่ ต้องคำนึงถึง อย่างเช่น เงินสดที่ต้องใช้ เงินสำหรับรถทั้งคัน หรือเงินดาวน์ รวมทั้งค่าประกันภัย ค่าทะเบียน และค่าอุปกรณ์ต่างๆ และเงินที่จะต้องผ่อนแต่ละเดือน สำหรับคนที่ซื้อรถเงินผ่อนซึ่งนอกจากเงินผ่อนแล้ว อย่าลืมค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าบำรุงรักษาต่างๆ, ค่าประกันภัย และค่าต่อภาษีปีต่อๆ ไปด้วย

 

    หมดเรื่องเงินก็มาต่อด้วยเรื่องของความจำเป็นในการใช้งาน จะต้องถามตัวเองก่อนว่า เราซื้อรถมาใช้ประโยชน์อะไร มีการใช้งานปกติอย่างไร มีข้อจำกัดในการใช้งาน อย่างไรบ้าง ฯลฯ เมื่อทราบแล้วจึงดูว่าในตลาดบ้านเรามีรถยี่ห้อไหน รุ่นใดบ้างที่เหมาะกับการใช้งาน ถ้าใช้รถในเมือง ก็อาจจะเลือก City Car หรือไม่ก็ Eco Car ซึ่งเป็น รถที่มีขนาดกะทัดรัด มีความคล่องตัวสูง มีอัตราเร่งดีตอนออกตัว ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ถ้าเป็นรถใช้เดินทางต่างจังหวัด ก็ควรเป็นรถขนาดกลางหรือขนาดใหญ่มี การทรงตัวดี เครื่องยนต์มีกำลัง เป็นรถที่แข็งแรงทนทาน สำหรับองค์ประกอบอื่นๆ ในเรื่องการใช้งาน อาจรวมถึงความจำเป็นต้องใช้บรรทุกของมากน้อยและบ่อยแค่ไหน จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้รถยนต์แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ โดยปกติ แล้วรถขับเคลื่อน 4 ล้อ จะราคาสูงกว่า สิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่ามีค่าบำรุงรักษาสูง และซ่อมแพง กว่าซึ่งถ้าซื้อมาแล้วได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่าก็ถือเป็นเรื่องดี กลับกันถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ขับเคลื่อน 4 ล้อเลย ก็ถือว่าเสียเงินส่วนต่างของราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มไปแบบฟรีๆ

 

    นอกจากนี้อุปนิสัยและพฤติกรรมการขับรถ ช้าหรือเร็ว ก็เป็นสิ่ง สำคัญเช่นกัน ถ้าเป็นคนที่ขับรถช้า ขับไปเรื่อยๆ ก็คงไม่ต้องพิจารณา อะไรให้มากนัก แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบขับเร็ว ก็ต้องพิจารณาในส่วนของ สมรรถนะเครื่องยนต์, ระบบช่วงล่าง, เกียร์, ระบบเบรค, ขนาดล้อ และยาง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ท้ายสุดเราก็ต้องคำนึงถึง เรื่องที่จอดรถด้วย มีตังค์ซื้อรถแต่ไม่มีที่จอด มันก็ยังไงๆ อยู่ ครั้นจะ ให้ไปจอดข้าง ถนนในซอยเปลี่ยวๆ ก็ไม่ไหว ดังนั้นเรื่องของความ ปลอดภัยในทรัพย์สิน เราก็ต้องให้ความระมัดระวังด้วย และถ้าจะ ให้เข้ากับกระแสยุคน้ำมันแพง จะซื้อรถทั้งทีก็ต้องมองไปที่ความ ประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย ตัวรถสามารถช่วยเราเซฟค่าใช้จ่ายได้ มากน้อยแค่ไหน ประเด็นหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องอัตราการสิ้นเปลือง น้ำมันเชื้อเพลิง โดยรถที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมักเป็นรถขนาดเล็ก เครื่องยนต์ขนาดเล็ก หรือเครื่องที่ใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ตัวถังออก แบบให้ลู่ลมมากกว่า ใช้หลักอากาศพลศาสตร์เข้ามาช่วย

 

    องค์ประกอบต่อมากับการเลือกซื้อรถ อย่างที่พูดกันจนติดปาก “มีรถก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามา” ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถ เมื่อถึงระยะทาง หรือ ระยะเวลาที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้ เช่น การเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่น ไส้กรอง หัวเทียน สายพานต่างๆ และยางรถยนต์ ไหนจะเรื่องค่าซ่อม ค่าแรง และค่าอะไหล่ของชิ้นส่วนที่ หมดอายุการใช้งานหรือชำรุด ทั้งอะไหล่สิ้นเปลือง หรืออะไหล่ที่ต้องมีการเปลี่ยนบ่อยๆ เช่น ผ้าเบรค ยาง ปัดน้ำฝน หรืออะไหล่ทั่วไป ซึ่งจะเปลี่ยนเมื่อตรวจพบว่าชำรุด ขณะเดียวกันความทนทานของรถยนต์ก็ สามารถช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ยิ่งซื้อรถไป เพื่อใช้งานหนัก ความทนทานก็ยิ่งมี ความสำคัญมากเท่านั้น เพราะจะมีผลอย่างมากต่อค่าใช้จ่าย และ เวลาที่ต้องเสียไปกับการซ่อมบำรุง หากต้องการทราบรถรุ่นไหน ยี่ห้อไหนมีความทนทานมาก วิธีง่ายๆ ก็คือ การสอบถามจากผู้มีประสบ การณ์ หากเป็นรุ่นใหม่ในตลาดก็คงต้องดูที่ยี่ห้อว่าเป็นค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่มีความทนทานหรือไม่

 

    อย่างไรก็ตามองค์ประกอบในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์โดยเฉพาะเรื่อง “บริการหลังการขาย” ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ต้องมีศูนย์บริการอยู่ทั่วไป, หาง่าย, มีการ บริการที่ดีได้มาตรฐาน และซื่อสัตย์ ความพร้อมของอะไหล่ หาง่ายไม่ต้องรอนานมีครบทุกชิ้น ใน ขณะที่รถบางรุ่นอาจต้องรออะไหล่เป็นเดือนๆ นอกจากนี้ก่อนการซื้อรถ เราควรหาข้อมูลในด้านการดูแลเอาใจใส่ของตัวแทนจำหน่าย และพนักงานขายหลังจากซื้อรถ มาแล้ว ว่าศูนย์ที่เราไปซื้อรถนั้นมันโอเคกับลูกค้าหรือไม่ มีไม่น้อยที่พนัก งานในศูนย์บริการแสดงมารยาทแย่ๆ ใส่ลูกค้า ก่อนซื้อรถพูดอีกอย่างหนึ่ง จ่ายตังค์เสร็จแสดง ท่าทีอีกอย่างหนึ่ง พฤติกรรมแบบนี้ถ้าใครไม่อยากเจอ ก็ควรเลือกซื้อรถจาก ศูนย์บริการที่ได้รับคำแนะนำจากปากต่อปาก มีการการันตรในเรื่องของงานบริการ และเป็น ที่ยอมรับของลูกค้าโดยทั่วไป

 

    ก่อนตัดสินใจซื้อรถควรคิดให้ดีว่าตัวเองมีจุดประสงค์ในการใช้งานอย่างไร สำหรับรถในฝันเชื่อว่าใครๆ ก็อยากมีสักครั้งในชีวิตที่ได้เป็นเจ้าของรถ หรูๆ ราคาหลายล้าน ก็ขอให้คิดดูดีๆ อย่าเห็นว่าสวย หรืออยากได้เพียงเพราะมันเท่ไม่เหมือนใคร อยากให้มองไปที่จุดประสงค์การใช้งาน มองไปข้าง หน้าในระยะยาว ว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ยุคสมัยนี้จะซื้อรถแต่ละคันต้องคิดหลายตลบ ของแพงหลักแสนหลักล้านหรือหลายล้าน หุนหันพลันแล่นซื้อมา โดยไม่คิดให้ถ้วนถี่ ว่ามันเหมาะกับการใช้งานหรือเหมาะแก่การใช้ชีวิตของเราหรือไม่ จะมาเสียใจภายหลังก็สายไปแล้ว

 

#####################################

 

ที่มา : นิตยสาร นักเลงรถ ฉบับที่ 339 ประจำเดือน มิถุนายน 2554